เมนู

[อรรถาธิบายศัพท์ว่า สมฺโมทนียํ และ สาราณียํ]


ก็เวรัญชพราหมณ์ ได้รื่นเริง (กับพระผู้มีพระภาคเจ้า) ด้วยถ้อยคำ
มีอาทิว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! พระองค์พออดทนได้หรือ ? พอยังอัตภาพ
ให้เป็นไปได้หรือ ? และพระสาวกทั้งหลายของพระโคดมผู้เจริญ ไม่มีอาพาธ
หรือ ? ไม่มีทุกข์หรือ ? ยังยืนคล่องแคล่วอยู่หรือ ? ยังมีกำลังอยู่หรือ ?
ยังอยู่ผาสุกหรือ ? ดังนี้ อันใด ถ้อยคำอันนั้น ชื่อว่า สัมโมทนียะ
(คือถ้อยคำเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นเริง) เพราะให้เกิดความรื่นเริงกล่าวคือปีติและ
ปราโมทย์ และเพราะเป็นถ้อยคำสมควรเพื่อความรื่นเริง ชื่อว่า สาราณียะ
(คือถ้อยคำเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน) เพราะเป็นถ้อยคำที่สมควร และ
เพราะเป็นถ้อยคำที่ควรระลึกถึง เพื่อให้ระลึกถึงตลอดกาลแม้นานด้วยดี คือ
เพื่อให้เป็นไปหาระหว่างมิได้ เหตุเป็นถ้อยคำอ่อนหวานด้วยอรรถและ
พยัญชนะ.
อนึ่ง ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะฟังอยู่ก็เป็นสุข. ชื่อว่า สาราณียะ
เพราะตามระลึกถึงอยู่ก็เป็นสุข. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะ
เป็นถ้อยคำบริสุทธิ์ด้วยพยัญชนะ ชื่อว่า สาราณียะ เพราะเป็นถ้อยคำ
บริสุทธิ์ด้วยอรรถ ด้วยประการฉะนี้แล.

[อรรถาธิบายสองศัพท์ว่า เอกมนฺตํ นีสีทิ]


เวรัญชพราหมณ์ ยังถ้อยคำอันเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นเริง คือถ้อยคำ
เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ให้ผ่านไป คือให้จบลง ได้แก่ให้สำเร็จลง
ด้วยบรรยายมิใช่น้อยอย่างนั้นแล้ว มีความประสงค์จะทูลถามถึงประโยชน์ที่เป็น.
เหตุให้ตนมา จึงนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ นี้ เป็นศัพท์แสดงภาวนปุงสกลิงค์. (ศัพท์ว่า
เอกมนฺตํ นี้เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ) เหมือนในคำ
ทั้งหลายเป็นต้นว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ ย่อมเดินเวียนรอบไปในที่อัน
ไม่เสมอ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ในคำว่า เอกมนฺตํ นิสีทิ นี้ พึงเห็นใจ
ความอย่างนี้ว่า เวรัญชพราหมณ์นั้นนั่งแล้ว จะชื่อว่า เป็นผู้นั่ง ณ ที่สมควร
ข้างหนึ่ง โดยประการใด ก็นั่งแล้วโดยประการนั้น.
อนึ่ง คำว่า เอกมนฺตํ นั้น เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่ง
สัตตมีวิภัตติ. บทว่า นิสีทิ แปลว่า เข้าไปใกล้แล้ว. จริงอยู่ บุรุษทั้งหลาย
ผู้ฉลาด เข้าไปหาครุฐานียบุคคล (คือบุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานครู) ชื่อว่าย่อมนั่ง
อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เพราะความเป็นผู้ฉลาดในการนั่ง ก็บรรดาบุรุษ
ฉลาดเหล่านั้น เวรัญชพราหมณ์นี้ เป็นคนใดคนหนึ่ง. เพราะฉะนั้น
พราหมณ์นั้น จึงนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[การนั่งเว้นโทษ 6 อย่าง]


ถามว่า ก็บุคคลนั่งอยู่อย่างไร จึงชื่อว่าเป็นผู้นั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ?
แก้ว่า ต้องนั่งเว้นโทษแห่งการนั่ง 6 อย่าง จึงชื่อว่าเป็นผู้นั่งแล้ว ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. โทษแห่งการนั่ง 6 อย่างเป็นไฉน ? โทษแห่งการนั่ง 6
อย่างนั้นคือ นั่งไกลนัก 1 นั่งใกล้นัก 1 นั่งเหนือลม 1 นั่งที่สูง 1 นั่ง
ตรงหน้าเกินไป 1 นั่งข้างหลังเกินไป 1 .
จริงอยู่ บุคคลนั่งอยู่ในที่ใกล้กันนัก ถ้ามีความประสงค์จะพูด จะต้อง
พูดด้วยเสียงดัง. นั่งในที่ใกล้กันนัก ย่อมทำความเบียดเสียดกัน. นั่งในที่
เหนือลม ย่อมรบกวน (คนอื่น) ด้วยกลิ่นตัว. นั่งในที่สูง ย่อมประกาศ